วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552

ผอ.พบเพื่อนครู







สวัสดีครับ พี่ น้อง เพื่อนครู ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษา ที่เคารพทุกท่าน
วันที่ 30 กันยายน เป็นวันที่มีความสำคัญหลาย ๆ เรื่อง ประการแรกเป็นวันที่ข้าราชการเกษียณอายุ (รวมทั้งที่เกษียณอายุก่อนกำหนด) ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาบุรีรัมย์ เขต 4 ของเราจำนวน 50 ท่าน(รวมลูกจ้างประจำ) ประการที่สองเป็นวันสิ้นปีงบประมาณต้องมีการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จ ไม่อย่างนั้นก็จะตกไป ประการที่สามเป็นวันสุดท้ายของการส่งผลงานทางวิชาการสำหรับท่านที่ขอรับการประเมิน วิทยฐานะชำนาญการพิเศษในช่วงเดือน ตุลาคม 2551 ทั้งหมดล้วนแต่เป็นสภาวะความเครียด สำหรับท่านที่อำลาชีวิตราชการก็ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง มีพลังใจที่เข้มแข็ง สมบูรณ์พูนผลด้วยบุญบารมี เป็นที่พึ่งของพวกเราตลอดไป ท่านเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ได้ฝากข้อคิดไว้กับทุกท่านว่า “ หากจะย้อนหลังดูการเปลี่ยนแปลงในวงการการศึกษาในรอบ ๓๐ ปี ที่ท่านเหล่านี้ได้ใช้ชีวิตราชการ เราจะพบว่าท่านได้ผ่านเหตุการณ์ที่เป็นประวัติศาสตร์การศึกษามามาก ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายโอนการศึกษาประชาบาลการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ การปฏิรูปการศึกษาในปี ๒๕๑๗ และ ๒๕๔๒ การเข้าสู่โครงสร้างใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนการปรับหลักสูตรหลายครั้งหลายหนด้วยกัน ในแต่ละช่วงของการเปลี่ยนแปลงที่กระทบโรงเรียนถึงสามหมื่นโรง ครูกว่าสี่แสนคน และนักเรียนเกือบสิบล้านคน ท่านได้ช่วยเป็นหลักประคับประคอง ดูแลแก้ปัญหาให้ลุล่วงคลี่คลาย ได้ริเริ่มนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยผลักดันการศึกษาให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง สร้างคนรุ่นใหม่เพื่อสานต่องานที่ได้วางหลักฐานไว้ และสร้างเครือข่ายที่จะระดมพลังสนับสนุนงานการศึกษาสืบต่อไป ท่านวันทยา วงศ์ศิลปภิรมย์ เป็นผู้ที่ได้บุกเบิกงานมาตรฐานการศึกษามาช้านาน จนทำให้โรงเรียนประถมศึกษามีพื้นฐานในเรื่องการพัฒนามาตรฐานและประเมินผลระดับชาติมานานก่อนที่จะมีระบบประกันคุณภาพ ท่านชูชาติ ทรัพย์มาก แม้จะจาก สพฐ. ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ แต่ในความรู้สึกของคน สพฐ. ท่านยังอยู่ใกล้ชิด เป็นที่พึ่ง เป็นที่ปรึกษา คอยแก้ปัญหา เช่นเดียวกับที่ท่านได้เป็นหลักให้แก่เพื่อนครูตลอดชีวิตราชการของท่าน ท่านผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละท่าน ล้วนมีบทบาทสำคัญ ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงในช่วงวิกฤติที่สุดของวงการศึกษาไทย และได้ร่วมสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรในระดับเขตพื้นที่เพื่อรองรับการกระจายอำนาจ เช่นเดียวกับเพื่อนข้าราชการที่ทำงานในส่วนกลางที่ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ จากผู้จัด ผู้ดำเนินการไปสู่การอำนวยการ ส่งเสริมสนับสนุน ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ท่านได้เป็นพลังขับเคลื่อน สพฐ. ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ชีวิตและประสบการณ์ของแต่ละท่านจึงมีคุณค่าและความลุ่มลึก สามารถประมวลเป็นตำรา การบริหารและพัฒนางานที่ไม่สามารถหาอ่านหาเรียนได้จากมหาวิทยาลัยแห่งใดเพราะเกิดจากประสบการณ์ตรง และความทุ่มเทเสียสละอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ท่านจึงเป็นผู้มีคุณูปการแก่วงการศึกษาไทย และเป็นแบบอย่างที่งดงามที่นักการศึกษารุ่นหลัง จะได้ถือเป็นแรงบันดาลใจและแบบอย่างสืบไป”
ในช่วงนี้มีข่าวใจหายอีเรื่องหนึ่ง คือ การลาออกจากราชการของท่านเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ซึ่งท่านได้ชี้แจงเหตุผลว่า “เป็นความตั้งใจของดิฉันมาช้านานว่าหาก สภาวการณ์เอื้ออำนวยจะออกเมื่ออายุครบ ๖๐ ปีเพื่อเปิดโอกาสให้น้องๆ ที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กันมาและมีเรี่ยวแรงพลังกายพลังสมองฉับไวกว่าหญิงชราเช่นดิฉันได้ผลัดเปลี่ยนสู่ตำแหน่งบ้างปัจจุบัน ดิฉันเป็นผู้บริหารระดับสูงหรือซี ๑๑ มาถึง ๗ ปี ยาวนานกว่าผู้บริหารราชการพลเรือนใดๆ ในประเทศปัจจุบัน หากจะทำอะไรได้คงทำไปหมดแล้ว น่าจะถึงเวลาที่คนรุ่นใหม่จะขับเคลื่อนงานปฏิรูปการศึกษารอบ ๒ได้อย่างต่อเนื่อง การออกครั้งนี้มิได้เกิดจากปัญหาหรือแรงกดดันใดๆ ผู้ที่ได้ทำงานกับดิฉันมาช้านานย่อมทราบดีว่าหากมีปัญหา หรือมีความไม่มั่นใจเกี่ยวกับความอยู่รอดปลอดภัยขององค์กรในด้านใดก็ตาม ดิฉันคงไม่ออกอย่างแน่นอน แต่สภาวะปัจจุบันทำให้ดิฉันมีความสบายใจและมั่นใจว่าองค์กรของเราจะก้าวหน้าไปด้วยดีกว่าในช่วงที่ดิฉันอยู่เสียด้วยซ้ำ โดยสรุป ดิฉันจึงไม่ได้ลาออกเพราะแรงกดดันหรือปัญหาใด แต่ด้วยความสบายใจและมั่นใจในองค์กรในทีมงานที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและมีทิศทาง ประเด็นที่ได้รับคำถามต่อมาคือ ออกไปแล้วจะทำอะไร เรียนตามตรงว่ายังไม่มีแผนที่ชัดเจน เพราะไม่มีใครทราบว่าดิฉันจะออก งานที่แน่นอนคือการเลี้ยงหลานย่า (จะใช้คำว่าเลี้ยงคงไม่ค่อยถูกเพราะลืมวิชาไปหมดแล้ว ต้องใช้คำว่าดูเขาเลี้ยงหลานจะตรงความเป็นจริงมากกว่า) ได้ข่าวว่ามีคนไปช่วยหาเหตุผลที่น่าเชื่อถือกว่าการเลี้ยงหลานว่าดิฉันมีงานใหญ่รออยู่ที่โน่นนี่ ไม่เป็นความจริงแต่ประการใด อย่างไรก็ตาม ดิฉันคงยังอยากทำอะไรที่เกี่ยวกับการศึกษาและเด็กๆ อยู่ ที่ไม่ต้องวิ่งตั้งแต่เช้าจนเย็นอย่างที่ทำทุกวันนี้ แต่ให้มีเวลาคิด เวลาเขียนมากขึ้น เช่น เขียนหนังสือเด็ก หรือช่วยพัฒนาโรงเรียนเล็กๆ ปีละหนึ่งแห่ง หวังว่าจะทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจและช่วยเล่าให้เพื่อนๆ ที่มีน้ำใจต่อดิฉันได้ทราบด้วย และในพบกันวันอังคารฉบับสุดท้ายคงจะได้เขียนขอบคุณท่านอีกครั้ง”
เพื่อเป็นศิริมงคลแก่พวกเราชาวการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผมขอนำข้อคิดและแนวทางการปฏิบัติงาน ซึ่งท่านได้ให้ไว้ในการประชุม ผอ.สพท. ครั้งที่ 4/2552 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2552 ดังนี้
“ ขอบคุณที่ช่วยให้รางวัลมีความหมายมากขึ้น ขอให้นำขึ้น Web สพฐ. เพื่อปรับปรุงต่อไปในปีหน้า ความจริงยังมีอีกหลายสำนักที่ยังไม่ได้มอบให้ หวังว่าจะพัฒนาต่อไปว่าเกณฑ์อะไรบ้างจะใช้ตัดสิน และขอแสดงความยินดีกับนักเรียนที่ได้รางวัล 3ดี ที่สามารถส่งผลงานเข้ามามากมาย เป็นการแข่งขันที่สูสีมาก สะท้อนความเข้าใจที่แท้จริง และประชาสัมพันธ์มีผลงานดีขึ้นตามลำดับ รวมทั้งให้รางวัล สอ. โดยท่านปัญญาได้เขียนบทความเรื่องป่าล้อมเมือง ช่วยแก้ข้อกล่าวหาเรื่องเรียนฟรีไม่จริง และผู้อำนวยการรุ่นใหม่ ไม่ใช่สอบเก่งอย่างเดียว แต่ทำงานเก่งทั้งนั้น และอีกหลายท่านที่ขอชื่นชมเป็นพิเศษและขอแสดงความยินดี และเชื่อว่าจะเป็นกำลังให้ให้คนอื่นต่อไป
จะไปต่างประเทศ เนื่องจาก word Education ซึ่งได้รับจ้างเป็นหน่วยงานแรกให้ไปรับรางวัล เมื่อมีข่าวจะลาออก หลายคนดีใจ แต่มีคนต่อว่า แต่ส่วนใหญ่ก็พยายามหาเหตุผล จึงขอชี้แจงว่าไม่มีการกดดัน แต่ออกด้วยความสบายใจ ถ้ามีปัญหาคงจะไม่ลาออก แต่รู้สึกหมดห่วง และเห็นบทสรุปของ รมว. แล้ว สบายใจที่เห็นว่ามุ่งมั่น ประกอบกับมีคุณธรรมที่จะพึ่งพาได้ จะทำให้เราช่วยกันดูแลงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ หลายปีข้างหน้าคงทำได้ด้วยความเจริญก้าวหน้าที่น่าภูมิใจคือ การพัฒนาการของ สพฐ. จากผลงานที่เราร่วมสร้างกันมา มีระบบและเป็นตัวอย่างได้
ตอนมา สพฐ. รอบแรกคิดว่าจะทำให้ สพฐ.ติดตลาดให้ได้ใน 6 เดือน ทุกวันนี้เป็น Brand Name ที่คนทั่วไปยอมรับ มีรางวัลที่น่าให้มากอีกคือ การศึกษาทางเลือก และมีนวัตกรรมมากมายที่เกิดในพื้นที่สะท้อนความเข้มแข็งของระบบ ศูนย์มัธยมเองแม้เพิ่งก่อตั้ง ก็เห็นความพยายามในการพัฒนาและพร้อม และยังมีจิตใจอารี ไปทำงานร่วมกันเช่นเดิม จึงเห็นว่ายังมีการประสานงานใกล้ชิด คงจะมีวามก้าวหน้าและเป็นประโยชน์ต่อไป ทุกคนมีการทำงานร่วมกันเป็นทีมมากขึ้น ประชุมพร้อมเพรียงกันมากขึ้น ตั้งแต่ระดับ ผอ.สำนักถึงระดับปฏิบัติ ซึ่งร่วมกันคิดงานแล้วเสนอขึ้นมา ในระดับ สพท.ก็เห็นการทำงานใกล้ชิดกับ อปท. ความขัดแย้งลดลงไปมาก อปท.ต้องการให้การสนับสนุนมากขึ้น นับว่าก้าวไปในทางที่ดีขึ้นการประสานงานระหว่างการศึกษาขั้นพื้นฐานกับมหาวิทยาลัยก็เป็นไปด้วยดีในหลายเขตและอยากเห็นการทำงานระหว่างส่วนกลาง และภูมิภาคดีขึ้นกว่านี้ แต่หวังว่าใน 3 ปีข้างหน้าจะดีขึ้น จะปรับให้สามารถทำงานร่วมกันดีขึ้น
สุดท้าย การเป็นผู้บริหารไม่สามารถหาผู้ที่ดีได้ครบถ้วน แต่ก็สามารถหาคนที่เก่งกว่ามาทำงานได้ ล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือน่าเชื่อถือ สามารถฝ่าฝันจนมาถึงเส้นชัยได้ที่ห่วงใย คือ อยากเห็น ผอ.เขต ได้เป็นเชี่ยวชาญพิเศษซัก 1 คน เพราะทำงานเหนื่อยมากอยากให้เห็นว่าสามารถขึ้นไปถึงระดับนั้นได้จะทำให้มีเรี่ยวแรงขึ้น ฝากลองจัดให้มีที่ปรึกษาเฉพาะคน เพื่อช่วยสร้างเส้นทางที่ก้าวหน้าได้ สำนักงานเขตจะได้เป็นที่พึ่งของโรงเรียนได้มีข้อคิดฝาก 3 เรื่อง ที่คิดจึงช่วยให้อยู่รอดปลอดภัย
1. คิดถึงเด็กเป็นสำคัญ ถ้าตัดสินใจบนประโยชน์ของเด็กจะพลาดน้อยมาก ทุกคนมีศัตรูแต่ถ้าเขาทำประโยชน์ว่าทำเพื่อเด็กจะพลาดน้อย
2. ต้องลงไปเรียนรู้และพัฒนาด้วยตัวเอง หลานเรื่องไปด้วยดี เพราะไปสัมผัสติดตามในพื้นที่และคิดทำ ซึ่งต้องลงไปดูด้วยตัวเอง เช่น เรื่องการดูการแข่งขันวอลเล่ย์บอลครั้งสุดท้าย ระหว่างครู อบจ.ชนะตลอด ก็เกิดคิดว่าเขาไปซื้อตัวเด็กเก่งมาหมด ระหว่างแข่งก็ถ่ายวีดีโอทุกมุม แต่เราไม่ได้ทำอะไรเลย จึงคิดว่าต้องเปลี่ยนวิธีสนับสนุนใหม่แล้วออกมาเป็นนโยบายซึ่งหลายแห่งก็ทำต่อได้ดีเรื่อง Tutor Chanel ของ รมว. ไปดูที่โรงเรียนเขมาภิรตาราม ได้ข้อคิดว่าเด็กตอบสนองดีมาก เป็นเด็กที่เราไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญ คือ เด็กระดับกลาง ๆ ที่เรามักลืมไป และวิธีการสอนของครูพี่ช้างสื่อว่าเขาเป็นพี่ไม่ใช่ครู ทำให้บรรยากาศเป็นกันเอง ไม่เครียด จึงอยากให้ทุกคนท่านได้ดูว่าแล้วจะเห็นว่ายังมีช่องว่างอีกมากการทำงานไม่มีรูปแบบสำเร็จจากส่วนกลาง ต้องดูเองและคิดโจทย์จากที่เห็นจะทำให้ได้อะไรอีกมาก ให้ถือการเรียนรู้เป็นการทำงานตลอดเวลา
3. พอเพียง มีความหมายมาก เป็นส่วนให้เกิดการตัดสินใจลาออกครั้งนี้เพราะรู้สึกทำมาพอควรแล้ว มีหน้าที่อื่นที่ยังสามารถทำได้อีกมาก ตรงนี้ควรปล่อยให้คนอื่นทำบ้าง อาจทำได้ดีกว่าเราหลายแห่งได้ไปเยี่ยมหลายครั้งไม่มีอะไรท้าทายอีกแล้ว จึงขอฝาก 3 เรื่องนี้ โดยเฉพาะข้อ 2 เป็นเรื่องที่จะทำจากสัญชาติญาณ และเกิดการพัฒนาตลอดไป และพอเพียง ทำให้คิดถึง Nelson Mandela กล่าวไว้ว่า Know when to quit. แปลว่ารู้ว่าเมื่อไรจะพอแม้จะเปลี่ยนหน้าที่ไป หวังว่าความสัมพันธ์จะเป็นเช่นเดิม และขอเป็นกำลังใจให้ช่วยกันทำงานต่อไป ฝากเรื่องที่สมุทรปราการนำผลงานเด็กอ่อนมาประกาศรอบห้อง และเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดมาดูให้เห็นคุณค่าของเขา ขอบคุณในความสนับสนุน และความอดทนที่มีให้มาโดยตลอด เรายังมีโอกาสพบกันในเวทีอื่น ๆ ต่อไป”

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ท่านเป็นผู้มีบุญ
ไม่ยึดติดกับคำว่าตำแหน่ง รู้จักตัวเองและประมาณตน
หาคนแบบนี้ยากเหลือเกินในสังคมปัจจุบันนี้
ขออวยพรให้ท่านมีสุขภาพที่สมบูรณ์ แข็งแรงตลอดไป
จากคนรักท่าน