วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ผอ.พบเพื่อนครู


สวัสดีครับ พี่ น้อง เพื่อนครู ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษา ที่เคารพทุกท่าน
เมื่อวันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม ติดตามงานตามนโยบายและพบปะประชาชนชาวบุรีรัมย์ โดยเฉพาะจุดโรงเรียนธารทองพิทยาคม ต้องขอคุณโรงเรียนอนุบาลพุทไธสง และโรงเรียนคูเมืองวิทยาคม ที่ได้ร่วมนำผลงานไปร่วมจัดนิทรรศการ จุดอ่างเก็บน้ำลำตะโคง อำเภอแคนดง ท่านผู้บริหารโรงเรียนและเพื่อนครูหลายท่านได้ช่วยจัดสถานที่ ให้การบริการ ตลอดทั้งร่วมกับทางอำเภอดำเนินการต่าง ๆ อย่างดี ท่านนายอำเภอแคนดงฝากขอบคุณทุกท่านด้วย และจุดรับ – ส่ง ที่สนามบิน อำเภอสตึก ท่านผู้บริหาร เพื่อนครูและนักเรียนจากหลายโรงเรียน ได้ไปร่วมต้อนรับและส่งท่านนายกรัฐมนตรีอย่างใกล้ชิด พร้อมมอบของที่ระลึกให้ท่าน คงเป็นโอกาสที่ต้องจดจำตลอดไปทั้งท่านที่มาเยือนและต้อนรับ

จากนั้นวันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม ที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา พวกเราก็ได้ต้อนรับท่าน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คุณหญิง ดร. กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ร่วมเสวนาในเรื่องแนวทางการพัฒนาการศึกษาของบุรีรัมย์ หลักการดีแต่หลายท่านอาจรู้สึกผิดหวัง ผมต้องขออภัยด้วยแล้วกันที่เราอาจไม่มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น แต่ก็ต้องขอบคุณโรงเรียนหลาย ๆ โรงเรียนที่นำผลงานไปนำเสนอ ท่านเลขาธิการฯ ให้ความสนใจมาก ก็ขอให้ท่านได้พัฒนาต่อยอดให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นต่อไป

ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษานี้ผมขอเชิญชวนพวกเราทุกคนได้ร่วมทำบุญเป็นพุทธบูชา เชิญชวนเข้าวัดปฏิบัติธรรม ทำบุญในวันพระ จำนวน 9 วัด ดังนี้
1. วันที่ 14 กรกฎาคม ที่ วัดโนนสูง บ้านทุ่งวัง กราบไหว้พระใหญ่ดงแสนตอ อำเภอสตึก
2. วันที่ 22 กรกฎาคม ที่ วัดอุดร บ้านคู อำเภอนาโพธิ์ กราบนมัสการหลวงพ่อเจ้าคณะอำเภอ
3. วันที่ 30 กรกฎาคม ที่ วัดสว่างแคนทะเล อำเภอแคนดง กราบนมัสการหลวงพ่อเจ้าคณะอำเภอ
4. วันที่ 6 สิงหาคม ที่ วัดสว่างอารมณ์ บ้านเมืองแก อำเภอสตึก กราบนมัสการหลวงพ่อเจ้าคณะอำเภอ
5. วันที่ 14 สิงหาคม ที่ วัดสุพลศรัทธาราม บ้านโนนสูง อำเภอคูเมือง กราบนมัสการหลวงพ่อเจ้าคณะอำเภอ
6. วันที่ 20 สิงหาคม ที่ วัดสระจันทร์ อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ กราบนมัสการหลวงพ่อเจ้าคณะอำเภอ
7. วันที่ 28 สิงหาคม ที่ วัดบ้านกระทุ่ม ตำบลตูมใหญ่ อำเภอคูเมือง
8. วันที่ 4 กันยายน ที่ วัดหงษ์ บ้านศรีษะแรด อำเภอพุทไธสง กราบไหว้พระเจ้าใหญ่
9. วันที่ 12 กันยายน ที่ วัดบ้านโพนทอง อำเภอพุทไธสง กราบนมัสการหลวงพ่อเจ้าคณะเภอ
กำหนดการนี้อาจเปลี่ยนแปลงบ้างอย่างไรจะแจ้งให้ทราบ ขอเชิญชวนทุกท่าน หากโรงเรียนใดที่อยู่ใกล้อาจนำนักเรียนร่วมทำบุญด้วยก็ยิ่งดี จากที่ได้อิ่มบุญแล้วเรามาต่อเรื่องการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จากบทความของท่านอาจารย์พรชัย ภาพันธ์ ต่อจากครั้งที่แล้ว
ที่กล่าวว่า ผู้เรียนสำคัญที่สุดไม่ได้แปลว่า ครูลดบทบาทหรือลดความสำคัญลง ตรงกันข้ามครูกลับมีความสำคัญมากขึ้น อีกทั้งมีพลังและศักดิ์ศรีในการแก้ปัญหาของมนุษย์ สังคมและสิ่งแวดล้อม นักเรียนได้รับการส่งเสริมศักยภาพตามความถนัดของตน จนมีความสุขอย่างยิ่งและรักครูมากขึ้น อนาคตของประเทศไทยขึ้นอยู่กับเด็กและเยาวชนในวันนี้ เพราะในโลกยุคใหม่การแข่งขันขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถของคนในชาติ โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่ใช้ความรู้เป็นฐาน (knowledge based economy) ครูควรปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอน ดังนี้
1. การมองเห็นความน่ารักตามแบบที่เขาเป็น ครูต้องบันทึกข้อมูลของเด็กแต่ละคนว่า มีจุดเด่นจุดด้อยอะไรนำความแตกต่างของผู้เรียนไปจัดกิจกรรมการเรียนการสอน วิธีการมองเห็นเด็กแต่ละคนทำได้ ดังนี้
o ให้ความสนใจเด็กแต่ละคนโดยการสังเกต พูดคุย ซักถาม
o นึกถึงลักษณะของเด็กทีละคนจนครบทุกคน
o คิด - วิเคราะห์ให้ได้ว่าอะไรที่ทำให้ครูจำเด็กคนนั้นได้
o สิ่งที่ทำให้ครูจำเด็กแต่ละคนได้ เป็นจุดเด่นหรือจุดด้อย
o ถ้ามองเห็นจุดเด่นของเขา ส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้น
o ถ้ามองเห็นความน่าสงสาร เขามีจุดด้อยต้องหาทางแก้ไขและพยายามหาสิ่งที่เป็นจุดเด่นที่น่ารักให้พบ
o อย่าซ้ำเติมปมด้อย
o แสดงออกกับทุกคนเท่าเทียมกัน
2. หนูเป็นคนสำคัญอย่างที่หนูเป็น ผู้เรียนแต่ละคนจะมีความชอบไม่เหมือนกัน แต่ละคนมีความฝันเป็นของตนเอง อยากทำในสิ่งที่ตนชอบ ครูจึงควรส่งเสริมแต่ละคนได้ทำในสิ่งที่ชอบและถนัด
3. คำนึกถึงความรู้สึกของผู้เรียน ครูต้องสอนโดยคำนึกถึงความรู้สึกของผู้เรียน โดยเฉพาะความรู้สึกต่อการเรียน และครูต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกที่ดีต่อครู เพื่อน และการเรียน ในที่สุดเด็กจะมีค่านิยมที่ดีต่อการเรียนต่อครูและเพื่อน
4. มองเห็นความดีของผู้เรียนแต่ละคน การมองเห็นความดีของผู้เรียน แล้วพยายามหยิบยกข้อดีขึ้นมาชมเชย จะก่อให้เกิดเจตคติทางบวกเสมอ โดยครูควรดำเนินการ ดังนี้
o พูดเฉพาะข้อดีแม้มีเพียง 1 อย่าง จากข้อเสีย 10 อย่าง
o พูดอย่างไม่จริงใจ ไม่ประชดประชัน
o ไม่พูดตอกย้ำความผิดของเขา
o มองเด็กแต่ละคนอย่างสร้างสรรค์
5. การวิพากษ์วิจารณ์ความคิดเห็นของผู้เรียน ครูต้องมีทักษะการใช้คำถามเพื่อทราบแนวคิด ความเชื่อ หลักการ พื้นฐานความรู้ และประสบการณ์ของผู้เรียน ครูไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ความคิดเห็นของผู้เรียนไม่ว่ากรณีใดๆ การสอบถามความคิดเห็นมีเทคนิค 2 ประการคือ
o เทคนิคการตั้งคำถาม ควรถามแบบเปิดกว้าง ไม่จำกัดคำตอบเหมือนครู ควรถามหาเหตุผลว่าทำไมคิดแบบนี้ และถามกระตุ้นให้คิดต่อเพื่อการสร้างสรรค์
o เทคนิคการให้ข้อมูลป้อนกลับอย่างสร้างสรรค์ โดยไม่วิพากษ์วิจารณ์ความคิดของใครว่า ผิด - ถูก ดี ไม่ดี ล้าสมัย และไม่เปรียบเทียบความคิดใคร ครูต้องยกย่องชมเชยว่าเก่ง เห็นสิ่งต่างๆ ในทางสร้างสรรค์ ทำให้ผู้อื่น ได้แง่คิด แล้วผูกโยงความคิดไปเกี่ยวพันกับเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง
6. การตอบสนองความต้องการทางการเรียน ครูที่มีประสิทธิภาพที่สุดต้องเป็นครูที่สามารถทำให้นักเรียนเป็นผู้วางแผนการเรียนและเลือกปฏิบัติตามความถนัด ครูเป็นผู้นำและผู้ตามในการเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่น ประเมิน-ปรับปรุง ค้นหา และสรุปเรื่องได้เอง เกิดผลงานคนละเรื่อง คนละแบบหลากหลายต่างกันตามเอกัตภาพของเขาเอง
7. ครูและนักเรียนเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันได้
บทบาทของครูควรส่งเสริมให้ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้เป็นส่วนใหญ่ ค้นคว้าหาความรู้และได้ข้อสรุปเอง เน้นกระบวนการคิด บทบาทของครูจึงอยู่ในฐานะผู้กระตุ้น ยั่วยุ ท้าทายและอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติกิจกรรม เรียนรู้เพื่อค้นหาข้อสรุป หรือคำตอบที่เป็นของผู้เรียนเอง การสอนโดยไม่สอนเป็นหัวใจสำคัญของการฝึกผู้เรียนเป็นสำคัญ
8. การไม่ตัดสินว่าความคิดใดผิด ความคิดใดถูก ผู้เรียนมีความแตกต่างกันด้านประสบการณ์ ความรู้ ความคิด ความถนัด เจตคติ รสนิยมและการแสดงออก ครูไม่ควรตัดสินว่าความคิดใดผิด เพราะจะไปสกัดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน ทุกคนมีความแตกต่างกันเนื่องจากประสบการณ์ ความรู้ ความคิด เจตคติ รสนิยม ครูจึงควรตระหนักว่านักเรียนคิดต่างกันได้ นักเรียนจึงควรคิดหรือทำสิ่งต่างๆ ที่แตกต่างไปจากแนวคำตอบของครู ครูจึงควรใช้คำถามคำว่า ทำไม จะทำให้ทราบถึงการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ของนักเรียน
9. คำตอบและการได้มาซึ่งคำตอบ ครูต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้รอบด้าน ต้องดูทั้งกระบวนการเรียนรู้ และผลที่เกิดขึ้น กับตัวนักเรียน เพราะวิธีคิดของผู้เรียนแตกต่างกัน เนื่องจากประสบการณ์เดิมของแต่ละคน ครูควรฝึกให้นักเรียนรู้กระบวนการคิดเนื้อหาให้ได้มาซึ่งคำตอบ ครูจึงควรสอนทักษะการคิดให้นักเรียนซึ่งจะทำให้นักเรียนคิดที่หลากหลาย เพราะวิธีคิดของนักเรียนอาจเชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิม ครูไม่ควรตรวจเฉพาะผลงานหรือผลผลิต แต่ครูควรศึกษาวิธีคิดหรือวิธีได้มาซึ่งผลงานหรือคำตอบของผลงานหรือคำตอบของผลงานนั้นๆ จากกระบวนการ
10. โรงเรียนโรงงาน ครูควรนำนักเรียนไปเรียนรู้สถานประกอบการ หรือโรงงานที่มีในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดประสบการณ์จริง เกิดความรู้ใหม่ที่ติดตรึงนาน ลืมยากกว่าการท่อง การอ่าน การจำมาตอบ ทั้งยังเกิดเจตคติที่ดีต่อการประกอบอาชีพ แหล่งเรียนรู้ในชุมชนมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ซึ่งจะสร้างความรู้ใหม่ ทำให้เกิดประสบการณ์จริง ประทับใจ เกิดความรู้สึกตรึงนานลืมยากกว่าการท่องอ่านเพื่อจำคำตอบ ครูควรให้นักเรียนเลือกกิจกรรมเอง แล้วรวมกลุ่มศึกษาดูงาน โดยบันทึกข้อมูลที่ได้เสนอรายงาน พฤติกรรมของครูควรให้ความช่วยเหลือกระตุ้นให้ช่วยกันคิด ประสานกับสถานประกอบการในชุมชน ที่สำคัญคือครูต้องใช้คำถามเพื่อหาร่องรอยการเรียนรู้และชมเชยเมื่อนักเรียนทำได้สำเร็จ
โรงเรียนเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ที่ให้บริการที่ผูกพันกับเรื่องการสอนและการเรียนรู้เป็นหลักเป้าหมายสุดท้าย (ultimate goal) ของโรงเรียนก็คือการเรียนรู้ของนักเรียน (student learning) ครูที่จัดการเรียนรู้ที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ จึงเป็นครูที่ท้าทายให้นักเรียนเกิดความต้องการที่จะเรียนรู้ หัวใจของการปฏิรูปการเรียนรู้คือ การปฏิรูปจากการยึดวิชาเป็นตัวตั้งมาเป็นยึดมนุษย์หรือผู้เรียนเป็นตัวตั้ง การเรียนรู้โดยการท่องหนังสือหรือเอาวิชาเป็นตังตั้งไม่สามารถทำให้มนุษย์เผชิญและแก้ปัญหาความเป็นจริงของชีวิตโลกยุคใหม่วิทยาการเจริญรุดหน้า ความรู้และสรรพวิทยาการไปถึงที่ต่างๆ ข้อมูลข่าวสารเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ครูจึงควรส่งเสริมให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้จากแหล่งความรู้ที่อยู่รอบตัวทั้งจากครูคน ครูเรื่องและครูธรรมชาติสิ่งแวดล้อม การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่กลมกลืนกับท้องถิ่นทำอย่างไร ครูจะสร้างความสุขให้กับนักเรียนและเรียนรู้อย่างมีความหมาย การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ครูเท่านั้นที่จะปรับเปลี่ยนให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้คิดหาคำตอบ ได้ตัดสินใจ ไม่ใช่คอยฟังนั่งนิ่ง นานวันก็ลืมเพราะสิ่งที่เรียนรู้เกิดจากครูไม่ใช่เด็ก สร้างโรงเรียนให้เป็นเรือนเพาะชำทางปัญญาดีกว่าเป็นเรือนจำทางความคิด ที่สะกิดมานี้ก็ขอให้ท่านได้นำไปปรับใช้ตามสภาพ ความเหมาะสม ความต้องการจำเป็นของแต่ละท่านแล้วกัน
สวัสดีครับ

3 ความคิดเห็น:

ศน.อำนวย พุทธชาติ กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ

A New Generation Supervisor กล่าวว่า...

เพิ่งได้มาเจอ blog ของท่าน ผอ. ก็เห็นว่าเป็น blog ที่มีประโยชน์มากค่ะ นอกจากท่านได้พบปะพูดคุยกับครูและบุคลากรทางการศึกษาแล้ว ท่านยังฝากความรู้ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นอย่างมาก เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ท่านจะได้ใกล้ชิดกับครูอีกทางหนึ่งค่ะ ถ้าเกิดครูหรือบุคลากรทางการศึกษาต้องการสอบถาม เรื่องราวต่าง ๆ จะสามารถฝากไว้ใน blog นี้ได้มั้ยค่ะ ท่านผอ.

theerawut กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ ด้วยความยินดี ครับ