วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2556


การพัฒนาคน เป็นโจทย์สำคัญของการปฏิรูปการศึกษา และยกระดับพัฒนาประเทศ

             รมว.ศธ.กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาได้พิจารณาจากโจทย์ใหญ่ คือขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในสังคมขนาดใหญ่ ในภูมิภาคและสังคมโลก ในขณะที่ปัจจุบันได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก ซึ่งสหรัฐอเมริกา ทวีปยุโรป รวมทั้งประเทศใหญ่ๆ ของทวีปเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ แม้บางประเทศ เช่น จีน จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เร็วมาก ก็ได้รับผลกระทบดังกล่าวทำให้มีการชะลอตัวทางเศรษฐกิจลง ในสภาพเช่นนี้จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเตรียมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อที่จะให้อยู่รอดในภาวะการณ์ปัจจุบันหรือในอนาคตต่อไป นอกจากนี้จะมีการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน พร้อมทั้งความพยายามที่จะเชื่อมโยงกันของกลุ่มประเทศอาเซียนกับนอกภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย
                 การจะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน จึงจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบ Logistics ที่สำคัญของประเทศ เช่น ด้านการคมนาคม การสื่อสาร ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนและกำลังเร่งดำเนินการในขณะนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็นและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  แต่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่สำคัญมากและขาดไม่ได้ คือ "การพัฒนาคน" เพราะฉะนั้นจึงเป็นโจทย์ที่สำคัญของการจัดการศึกษาและปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย
                      การศึกษาต้องเดินหน้าสู่การสร้าง การพัฒนา เตรียมความพร้อมให้สอดคล้องกับสังคมโลก โดยเฉพาะสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 เป็นผลจากการปฏิวัติด้านดิจิทัล (Digital Revolution) และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ที่ทำให้โลกทั้งโลกเชื่อมโยงและสื่อสารถึงกันได้อย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องสร้างและพัฒนาให้คนเป็นทรัพยากรมนุษย์ ที่มีความสามารถ มีทักษะ ความถนัด ความชำนาญพร้อมจะขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาประเทศสู่การเป็นประเทศพัฒนาในระดับที่สูงขึ้น

 
ประกาศนโยบาย "2556 ปีแห่งการรวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา"
                    จากผลการประเมินการจัดอันดับโดย IMD พบว่าในปี ค.ศ.2013 การศึกษาไทยอยู่ในอันดับที่ 51 จาก 60 ประเทศ และผลการประเมินการทดสอบ PISA ทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ในปี ค.ศ.2009 พบว่าเด็กไทยอยู่ในอันดับที่ประมาณ 50 จาก 65 ประเทศ ในขณะที่ผลการจัดอันดับ 400 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก โดย Times Higher Education World Rankings ในปี ค.ศ.2012-2013 พบว่ามีมหาวิทยาลัยไทยเพียงแห่งเดียวที่ติดอยู่ในกลุ่ม 351-400 เป็นสภาพที่เป็นจริงที่เราประสบอยู่

                    รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายด้านการศึกษาที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษา ซึ่งได้แถลงไว้ชัดเจนต่อรัฐสภา ให้มีการปฏิรูประบบการเรียนรู้ ซึ่งหมายความว่า  รัฐบาลมีความเข้าใจและกำหนดเป็นนโยบายที่ปฏิรูปการศึกษา และได้ดำเนินการมาเป็นลำดับ โดยนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศธ.คนล่าสุด ได้เริ่มดำเนินการปฏิรูปหลักสูตรอย่างตั้งใจและจริงจัง แต่เมื่อพิจารณาจากสภาพการณ์ของสังคมโลก จากโจทย์ที่ประเทศนี้จะต้องรับมือ ก็มีความจำเป็นที่เราจะต้องยกเครื่องการศึกษาไทยให้มีคุณภาพ มาตรฐานในระดับสากล และสอดคล้องกับสังคมโลกยุคใหม่
                        ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ควรจะประกาศให้ "การศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ" โดยกำหนดให้ปี 2556 จากนี้ไปเป็น "ปีแห่งการรวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา" ซึ่งหมายความว่า เราจะทำตามลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยพลังของสังคมทั้งสังคมมาช่วยกันขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแนวนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล และสานต่องานที่ได้ดำเนินการไว้แล้ว เป้าหมายมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้คิด วิเคราะห์ เรียนรู้ มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21   เพื่อให้ปีแห่งการรวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษาเป็นผลสำเร็จ จึงขอเสนอเป้าหมายมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้สามารถคิด วิเคราะห์ เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์และทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 โดยภายในปี พ.ศ.2558 ซึ่งไปพ้องกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปีเดียวกัน ดังนี้

  • ให้ผลการจัดอันดับการศึกษาไทย ผลการทดสอบ PISA ของไทย ให้อยู่ในอันดับที่ดีขึ้น
  •  ให้สัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาต่อสามัญเพิ่มขึ้นเป็น 50 : 50
  •  ให้มหาวิทยาลัยไทยติดอันดับโลกมากขึ้น
  •  ให้มีการกระจายโอกาสและเพิ่มความเสมอภาคทางการศึกษามากขึ้น

                   ทั้งนี้ โดยเน้นการส่งเสริมให้ภาคเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามามีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ จัดและสนับสนุนการศึกษามากขึ้น คือวงการการศึกษา บุคลากรทางการศึกษาของรัฐทั้งหมด ต้องมีความเข้าใจร่วมกันว่า การศึกษาของภาคเอกชนเป็นกำลังสำคัญของประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น: