วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ผอ.พบเพื่อนครู


สวัสดีปีการศึกษาใหม่ (2553) ครับ

วันนี้ได้อ่านบทความที่น่าสนใจเลยนำมาฝากเพื่อน พี่ น้องครู เพื่อจะได้ช่วยกันหาแนวทางจัดการเรียนการสอนให้เป็นไปตามคำที่ว่า "ผู้เรียนเป็นสำคัญ" คงเป็นประโยชน์หากท่านได้นำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนบ้าง อย่างน้อยที่สุดท่านใดสามารถปฏิบัติตามได้สัก 10 ข้อ ก็ถือได้ว่าเป็นสุดยอดของครูที่นักเรียนพึงปรารถนาได้เลย
ที่กล่าวว่า ผู้เรียนสำคัญที่สุดไม่ได้แปลว่า ครูลดบทบาทหรือลดความสำคัญลง ตรงกันข้ามครูกลับมีความสำคัญมากขึ้น อีกทั้งมีพลังและศักดิ์ศรีในการแก้ปัญหาของมนุษย์ สังคมและสิ่งแวดล้อม นักเรียนได้รับการส่งเสริมศักยภาพตามความถนัดของตน จนมีความสุขอย่างยิ่งและรักครูมากขึ้น อนาคตของประเทศไทยขึ้นอยู่กับเด็กและเยาวชนในวันนี้ เพราะในโลกยุคใหม่การแข่งขันขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถของคนในชาติ โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่ใช้ความรู้เป็นฐาน (knowledge based economy) ครูควรปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอน ดังนี้
1. การมองเห็นความน่ารักตามแบบที่เขาเป็น ครูต้องบันทึกข้อมูลของเด็กแต่ละคนว่า มีจุดเด่นจุดด้อยอะไรนำความแตกต่างของผู้เรียนไปจัดกิจกรรมการเรียนการสอน วิธีการมองเห็นเด็กแต่ละคนทำได้ ดังนี้
o ให้ความสนใจเด็กแต่ละคนโดยการสังเกต พูดคุย ซักถาม
o นึกถึงลักษณะของเด็กทีละคนจนครบทุกคน
o คิด - วิเคราะห์ให้ได้ว่าอะไรที่ทำให้ครูจำเด็กคนนั้นได้
o สิ่งที่ทำให้ครูจำเด็กแต่ละคนได้ เป็นจุดเด่นหรือจุดด้อย
o ถ้ามองเห็นจุดเด่นของเขา ส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้น
o ถ้ามองเห็นความน่าสงสาร เขามีจุดด้อยต้องหาทางแก้ไขและพยายามหาสิ่งที่เป็นจุดเด่นที่น่ารักให้พบ
o อย่าซ้ำเติมปมด้อย
o แสดงออกกับทุกคนเท่าเทียมกัน

2. หนูเป็นคนสำคัญอย่างที่หนูเป็น ผู้เรียนแต่ละคนจะมีความชอบไม่เหมือนกัน แต่ละคนมีความฝันเป็นของตนเอง อยากทำในสิ่งที่ตนชอบ ครูจึงควรส่งเสริมแต่ละคนได้ทำในสิ่งที่ชอบและถนัด
3. คำนึกถึงความรู้สึกของผู้เรียน ครูต้องสอนโดยคำนึกถึงความรู้สึกของผู้เรียน โดยเฉพาะความรู้สึกต่อการเรียน และครูต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกที่ดีต่อครู เพื่อน และการเรียน ในที่สุดเด็กจะมีค่านิยมที่ดีต่อการเรียนต่อครูและเพื่อน
4. มองเห็นความดีของผู้เรียนแต่ละคน การมองเห็นความดีของผู้เรียน แล้วพยายามหยิบยกข้อดีขึ้นมาชมเชย จะก่อให้เกิดเจตคติทางบวกเสมอ โดยครูควรดำเนินการ ดังนี้
o พูดเฉพาะข้อดีแม้มีเพียง 1 อย่าง จากข้อเสีย 10 อย่าง
o พูดอย่างไม่จริงใจ ไม่ประชดประชัน
o ไม่พูดตอกย้ำความผิดของเขา
o มองเด็กแต่ละคนอย่างสร้างสรรค์
5. การวิพากษ์วิจารณ์ความคิดเห็นของผู้เรียน ครูต้องมีทักษะการใช้คำถามเพื่อทราบแนวคิด ความเชื่อ หลักการ พื้นฐานความรู้ และประสบการณ์ของผู้เรียน ครูไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ความคิดเห็นของผู้เรียนไม่ว่ากรณีใดๆ การสอบถามความคิดเห็นมีเทคนิค 2 ประการคือ
o เทคนิคการตั้งคำถาม ควรถามแบบเปิดกว้าง ไม่จำกัดคำตอบเหมือนครู ควรถามหาเหตุผลว่าทำไมคิดแบบนี้ และถามกระตุ้นให้คิดต่อเพื่อการสร้างสรรค์
o เทคนิคการให้ข้อมูลป้อนกลับอย่างสร้างสรรค์ โดยไม่วิพากษ์วิจารณ์ความคิดของใครว่า ผิด - ถูก ดี ไม่ดี ล้าสมัย และไม่เปรียบเทียบความคิดใคร ครูต้องยกย่องชมเชยว่าเก่ง เห็นสิ่งต่างๆ ในทางสร้างสรรค์ ทำให้ผู้อื่น ได้แง่คิด แล้วผูกโยงความคิดไปเกี่ยวพันกับเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง

6. การตอบสนองความต้องการทางการเรียน ครูที่มีประสิทธิภาพที่สุดต้องเป็นครูที่สามารถทำให้นักเรียนเป็นผู้วางแผนการเรียนและเลือกปฏิบัติตามความถนัด ครูเป็นผู้นำและผู้ตามในการเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่น ประเมิน-ปรับปรุง ค้นหา และสรุปเรื่องได้เอง เกิดผลงานคนละเรื่อง คนละแบบหลากหลายต่างกันตามเอกัตภาพของเขาเอง
7. ครูและนักเรียนเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันได้
8. บทบาทของครูควรส่งเสริมให้ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้เป็นส่วนใหญ่ ค้นคว้าหาความรู้และได้ข้อสรุปเอง เน้นกระบวนการคิด บทบาทของครูจึงอยู่ในฐานะผู้กระตุ้น ยั่วยุ ท้าทายและอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติกิจกรรม เรียนรู้เพื่อค้นหาข้อสรุป หรือคำตอบที่เป็นของผู้เรียนเอง การสอนโดยไม่สอนเป็นหัวใจสำคัญของการฝึกผู้เรียนเป็นสำคัญ
9. การไม่ตัดสินว่าความคิดใดผิด ความคิดใดถูก ผู้เรียนมีความแตกต่างกันด้านประสบการณ์ ความรู้ ความคิด ความถนัด เจตคติ รสนิยมและการแสดงออก ครูไม่ควรตัดสินว่าความคิดใดผิด เพราะจะไปสกัดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน ทุกคนมีความแตกต่างกันเนื่องจากประสบการณ์ ความรู้ ความคิด เจตคติ รสนิยม ครูจึงควรตระหนักว่านักเรียนคิดต่างกันได้ นักเรียนจึงควรคิดหรือทำสิ่งต่างๆ ที่แตกต่างไปจากแนวคำตอบของครู ครูจึงควรใช้คำถามคำว่า ทำไม จะทำให้ทราบถึงการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ของนักเรียน
10. คำตอบและการได้มาซึ่งคำตอบ ครูต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้รอบด้าน ต้องดูทั้งกระบวนการเรียนรู้ และผลที่เกิดขึ้น กับตัวนักเรียน เพราะวิธีคิดของผู้เรียนแตกต่างกัน เนื่องจากประสบการณ์เดิมของแต่ละคน ครูควรฝึกให้นักเรียนรู้กระบวนการคิดเนื้อหาให้ได้มาซึ่งคำตอบ ครูจึงควรสอนทักษะการคิดให้นักเรียนซึ่งจะทำให้นักเรียนคิดที่หลากหลาย เพราะวิธีคิดของนักเรียนอาจเชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิม ครูไม่ควรตรวจเฉพาะผลงานหรือผลผลิต แต่ครูควรศึกษาวิธีคิดหรือวิธีได้มาซึ่งผลงานหรือคำตอบของผลงานหรือคำตอบของผลงานนั้นๆ จากกระบวนการ

1 ความคิดเห็น:

ครูจิตอาสา กล่าวว่า...

เรียน ท่านผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาบุรีรัมย์ เขต ๔ โรงเรียนบ้านกอกโคกวิทยาประสบภัยนำท่วมขังห้องน้ำสูงประมาณ ๐.๕๐ เมตร นักเรียนและครูจำนวน ๗๙ คน ต้องใช้ห้องน้ำอนุบาล ซึ่งมีเพียง จำนวน ๑ ห้อง ขอความกรุณาโปรดตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือโดยด่วนด้วยขอรับ เพราะตั้งแต่เปิดภาคเรียน ๒๕๕๓ ห้องน้ำก็ยังท่วมขังเพราะพื้นที่ต่ำมาก และยังใช้การไม่ได้จนปัจจุบัน
ขอขอบพระคุณที่ท่านเมตตาดูแลโรงเรียนขนาดเล็กมาพร้อมบทความนี้ ขอขอบพระคุณขอรับ.